หน้าเว็บ

- ป่าประเภทที่ไม่ผลัดใบ

ป่าประเภทที่ไม่ผลัดใบ

                        ป่าประเภทที่ไม่ผลัดใบ (Evergreen)
   ป่าประเภทนี้มองดูเขียวชอุ่มตลอดปี  เนื่องจากต้นไม้แทบทั้งหมดที่ขึ้นอยู่เป็นประเภทที่ไม่ผลัดใบ  ป่าชนิดสำคัญซึ่งจัดอยู่ในประเภท  นี้  ได้แก่    


                              1.  ป่าดงดิบ (Tropical Evergreen Forest or Rain Forest)
ป่าดงดิบที่มีอยู่ทั่วในทุกภาคของประเทศ แต่ที่มีมากที่สุด  ได้แก่  ภาคใต้และภาคตะวันออก  ในบริเวณนี้มีฝนตกมากและมีความชื้นมากในท้องที่ภาคอื่น  ป่าดงดิบมักกระจายอยู่บริเวณที่มีความชุ่มชื้นมาก ๆ  เช่น  ตามหุบเขาริมแม่น้ำลำธาร  ห้วย  แหล่งน้ำ และบนภูเขา  ซึ่งสามารถแยกออกเป็นป่าดงดิบชนิดต่าง ๆ  ดังนี้



                               1.1  ป่าดิบชื้น (Moist Evergreen Forest)
เป็นป่ารกทึบมองดูเขียวชอุ่มตลอดปีมีพันธุ์ไม้หลายร้อยชนิดขึ้นเบียดเสียดกันอยู่มักจะพบกระจัดกระจายตั้งแต่ความสูง 600 เมตร  จากระดับน้ำทะเล  ไม้ที่สำคัญก็คือ ไม้ตระกูลยางต่าง ๆ  เช่น  ยางนา  ยางเสียน  ส่วนไม้ชั้นรอง คือ  พวกไม้กอ  เช่น  กอน้ำ กอเดือย



                              
1.2  ป่าดิบแล้ง  (Dry Evergreen Forest) 
        เป็นป่าที่อยู่ในพื้นที่ค่อนข้างราบมีความชุ่มชื้นน้อย  เช่น  ในแถบภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือมักอยู่สูงจากระดับน้ำทะเลประมาณ 300-600 เมตร  ไม้ที่สำคัญได้แก่  มะคาโมง  ยางนา  พยอม  ตะเคียนแดง  กระเบากลัก และตาเสือ




     
                         1.3  ป่าดิบเขา (Hill  Evergreen Forest) 
        ป่าชนิดนี้เกิดขึ้นในพื้นที่สูง ๆ หรือบนภูเขาตั้งแต่ 1,000-1,200 เมตร  ขึ้นไปจากระดับน้ำทะเล  ไม้ส่วนมากเป็นพวก   Gymonosperm  ได้แก่  พวกไม้ขุนและสนสามพันปี  นอกจากนี้ยังมีไม้ตระกูลกอขึ้นอยู่  พวกไม้ชั้นที่สองรองลงมา  ได้แก่  เป้ง  สะเดาช้าง และขมิ้นต้น




                                2.  ป่าสนเขา (Pine Forest)
ป่าสนเขามักปรากฎอยู่ตามภูเขาสูงส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ซึ่งมีความสูงประมาณ 200-1800 เมตร  ขึ้นไปจากระดับน้ำทะเลในภาคเหนือ  ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  บางทีอาจปรากฎในพื้นที่สูง200-300 เมตร  จากระดับน้ำทะเลในภาคตะวันออกเฉียงใต้  ป่าสนเขามีลักษณะเป็นป่าโปร่ง  ชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญของป่าชนิดนี้คือ สนสองใบ และสนสามใบ  ส่วนไม้ชนิดอื่นที่ขึ้นอยู่ด้วยได้แก่พันธุ์ไม้ป่าดิบเขา  เช่น  กอชนิดต่าง ๆ หรือพันธุ์ไม้ป่าแดงบางชนิด คือ เต็ง  รัง  เหียง  พลวง  เป็นต้น



                                3.  ป่าชายเลน (Mangrove Forest)
บางทีเรียกว่า "ป่าเลนน้ำเค็มหรือป่าเลน มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่นแต่ละชนิดมีรากค้ำยันและรากหายใจ  ป่าชนิดนี้ปรากฎอยู่ตามที่ดินเลนริมทะเลหรือบริเวณปากน้ำแม่น้ำใหญ่   ซึ่งมีน้ำเค็มท่วมถึงในพื้นที่ภาคใต้มีอยู่ตามชายฝั่งทะเลทั้งสองด้าน  ตามชายทะเลภาคตะวันออกมีอยู่ทุกจังหวัดแต่ที่มากที่สุดคือ บริเวณปากน้ำเวฬุ  อำเภอลุง  จังหวัดจันทบุรี
พันธุ์ไม้ที่ขึ้นอยู่ตามป่าชายเลน  ส่วนมากเป็นพันธุ์ไม้ขนาดเล็กใช้ประโยชน์สำหรับการเผาถ่านและทำฟืนไม้ชนิดที่สำคัญ คือ โกงกาง  ประสัก  ถั่วขาว  ถั่วขำ  โปรง  ตะบูน  แสมทะเล  ลำพูนและลำแพน ฯลฯ  ส่วนไม้พื้นล่างมักเป็นพวก  ปรงทะเลเหงือกปลายหมอ  ปอทะเล และเป้ง  เป็นต้น



                                 4.  ป่าพรุหรือป่าบึงน้ำจืด (Swamp Forest)
ป่าชนิดนี้มักปรากฎในบริเวณที่มีน้ำจืดท่วมมาก ๆ  ดินระบายน้ำไม่ดีป่าพรุในภาคกลาง  มีลักษณะโปร่งและมีต้นไม้ขึ้นอยู่ห่าง ๆ  เช่น  ครอเทียน  สนุ่น  จิก  โมกบ้าน  หวายน้ำ  หวายโปร่ง  ระกำ  อ้อ และแขม  ในภาคใต้ป่าพรุมีขึ้นอยู่ตามบริเวณที่มีน้ำขังตลอดปีดินป่าพรุที่มีเนื้อที่มากที่สุดอยู่ในบริเวณจังหวัดนราธิวาสดินเป็นพีท  ซึ่งเป็นซากพืชผุสลายทับถมกัน  เป็นเวลานานป่าพรุแบ่งออกได้ 2 ลักษณะ คือ ตามบริเวณซึ่งเป็นพรุน้ำกร่อยใกล้ชายทะเลต้นเสม็ดจะขึ้นอยู่หนาแน่นพื้นที่มีต้นกกชนิดต่าง ๆ เรียก "ป่าพรุเสม็ด หรือ ป่าเสม็ด"  อีกลักษณะเป็นป่าที่มีพันธุ์ไม้ต่าง   มากชนิดขึ้นปะปนกับชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญของป่าพรุ  ได้แก่  อินทนิล  น้ำหว้า  จิก  โสกน้ำ  กระทุ่มน้ำภันเกรา  โงงงันกะทั่งหัน  ไม้พื้นล่างประกอบด้วย  หวาย  ตะค้าทอง  หมากแดง และหมากชนิดอื่น ๆ 



  5.  ป่าชายหาด (Beach Forest)
เป็นป่าโปร่งไม่ผลัดใบขึ้นอยู่ตามบริเวณหาดชายทะเล  น้ำไม่ท่วมตามฝั่งดินและชายเขาริมทะเล  ต้นไม้สำคัญที่ขึ้นอยู่ตามหาดชายทะเล  ต้องเป็นพืชทนเค็ม และมักมีลักษณะไม้เป็นพุ่มลักษณะต้นคดงอ ใบหนาแข็ง  ได้แก่  สนทะเล  หูกวาง  โพธิ์ทะเล  กระทิง  ตีนเป็ดทะเล  หยีน้ำ  มักมีต้นเตยและหญ้าต่าง ๆ ขึ้นอยู่เป็นไม้พื้นล่าง  ตามฝั่งดินและชายเขา  มักพบไม้เกตลำบิด  มะคาแต้  กระบองเพชร  เสมา และไม้หนามชนิดต่าง ๆ  เช่น  ซิงซี่  หนามหัน  กำจาย  มะดันขอ  เป็นต้น